เงาะโรงเรียน หวานกรอบ ดีที่สุดในโลก ของอร่อยเมืองสุราษฎร์ธานี ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เงาะโรงเรียน ขึ้นชื่อในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเป็นเงาะพันธุ์โรงเรียนที่ดีที่สุดในโลก มีต้นกำเนิดของเงาะสายพันธุ์นี้อยู่ที่โรงเรียนนาสาร อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งได้มีการนำเมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ที่มีเพียงต้นเดียวมาปลูกนั่นเอง โดยเงาะได้ถูกจัดเป็นผลไม้เมืองร้อนชนิดหนึ่งที่มีอายุมานานหลายปี และสามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ออกดอกจนกระทั่งผลแก่ นอกจากนี้ก็ยังมีประโยชน์อีกมากมาย ทั้งการนำมาทานสดๆ นำมาทำเงาะแช่อิ่มเชื่อม ทำแยมหรือใช้ไขของเงาะในการทำสบู่ เป็นต้น แถมรากและเปลือกของเงาะก็สามารถนำมาทำเป็นยาสมุนไพรได้ด้วย
ที่มาของเงาะโรงเรียน
เงาะถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของบ้านนาสาร และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยความเป็นมาของเงาะโรงเรียน มีเรื่องเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2468 ได้มีชาวมาเล เชื้อสายจีนชื่อว่านายเค วอง เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อที่จะทำเหมืองแร่ดีบุกที่ตำบลนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี และได้นำเมล็ดเงาะมาปลูกไว้ใกล้กับที่พักของตน เพื่อเก็บกินในระหว่างที่ทำเหมืองอยู่ในประเทศไทย โดยจากต้นเงาะที่ปลูกขึ้นมา พบว่ามีต้นเงาะต้นหนึ่งที่มีลักษณะต่างไปจากเงาะต้นอื่นๆ คือมีเนื้อกรอบ หวาน เปลือกบางและมีรูปร่างค่อนข้างกลม ทั้งยังมีกลิ่นหอมน่าทาน ต่อมาจึงได้มีการรู้จักและปลูกกันอย่างแพร่หลาย
ประวัติความเป็นมา
จากที่มาของเงาะโรงเรียน เริ่มจากนายเค วอง ได้เข้ามาทำกิจการเหมืองแร่ดีบุกที่นาสาร และได้ทำการปลูกเงาะขึ้นใกล้กับบริเวณที่พักซึ่งอยู่ริมทางรถไฟ ซึ่งเริ่มแรกนั้นนายเค วอง เพียงแค่นำเงาะพื้นเมืองของปีนังมานั่งรับประทานตามปกติ จากนั้นก็ทิ้งเมล็ดลงบนพื้นดิน และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินบริเวณดังกล่าว จึงทำให้เมล็ดที่ถูกทิ้งงอกขึ้นมาเป็นต้นเงาะประมาณ 3 ต้น หลังจากนั้นเมื่อนายเค วอง ได้เลิกกิจการเหมืองแร่แล้ว ก็ได้ทำการขายที่ดินพร้อมกับบ้านพักให้กับทางราชการของไทย และต่อมาก็ได้มีการทำเป็นโรงเรียนขึ้นมา โดยชื่อว่าโรงเรียนนาสาร ซึ่งระหว่างนั้นต้นเงาะก็ได้เจริญเติบโตใหญ่ขึ้นและออกดอกออกผลและมีต้นหนึ่งที่แปลกไปจากต้นอื่นๆ คือมีผลค่อนข้างกลม เนื้อกรอบ หวานอร่อย จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ในเวลาต่อมาชาวนาสารก็ได้นำเมล็ดพันธุ์ของต้นเงาะดังกล่าวไปปลูกขยายพันธุ์กันอย่างแพร่หลาย และเป็นที่รู้จักกันทั่วในปัจจุบัน และเนื่องจากเงาะสายพันธุ์นี้มีแหล่งกำเนิดอยู่ในโรงเรียนนาสาร จึงได้มีการใช้ชื่อว่า “เงาะโรงเรียน” ต่อมาในปี พ.ศ.2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้เสด็จไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยนายชัช อุตตมางกูร ก็ได้ทูลเกล้าถวายผลเงาะโรงเรียนและขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะใหม่ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงได้มีพระราชดำรัสว่า ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว เงาะสายพันธุ์นี้จึงมีชื่อว่าเงาะโรงเรียนอย่างเป็นทางการตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และยังมีการจัดงานวันเงาะโรงเรียนขึ้นในทุกปี เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย
พิธีการทำขวัญเงาะ
เนื่องจากเงาะมีราคาตกต่ำ และในบางฤดูก็ประสบภัยแล้งจนทำให้เงาะขาดแคลนน้ำจนเกิดการเฉาตายและผลเจริญไม่เต็มที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกษตรกรเกิดการเสียขวัญอย่างหนัก ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2546 จึงได้มีการจัดพิธีการทำขวัญเงาะขึ้นมา ณ บริเวณโรงเรียนนาสาร ซึ่งเป็นที่กำเนิดของเงาะโรงเรียนต้นแรก โดยยึดเอาแนวคิดแบบการทำพิธีทำขวัญข้าวเป็นแบบอย่าง ส่วนขั้นตอนในการทำขวัญเงาะ จะเริ่มจากการอัญเชิญแม่พระผลาหาร ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเทพธิดาอันศักดิ์สิทธิ์มาร่วมพิธี และจะทำพิธีโดยแบ่งออกเป็นช่วงกลางวันกับกลางคืน โดยกลางวันจะทำพิธีที่หน้าศาลเพียงตาเพื่อเบิกแม่ธรณี ซึ่งมีเครื่องบวงสรวงได้แก่
- ธูป 21 ดอก
- มะพร้าวอ่อน 1 ลูก
- เทียนไข 6 เล่ม ให้มัดเป็นกำ
- สาคูน้ำแดง 5 ถ้วย
- หมากพลู 5 คำ
- กล้วยน้ำว้า 1 หวี
ตามขั้นตอนจะทำการจุดธูปเพื่อชุมนุมเทวดา จากนั้นถวายอาหารและเครื่องบวงสรวงที่ได้เตรียมไว้ ตามด้วยสวดร้อยกรองบาลี บทพระปริตรลงด้วยเมตตาใหญ่ ส่งเทวดาด้วยบททุกขนัดตตา สัพเพพุทธา มหากาชยันโต เสร็จแล้วให้ลาเครื่องบวงสรวงลงมา แล้วตักอาหารใส่กระทงวางไว้หน้างาน เมื่อถึงตอนกลางคืน จะมีการไหว้ครูหมอขวัญ แนะนำตัวหมอ เบิกแม่ธรณีและจุดธูปชุมนุมเทวดา ตามด้วยพิธีทำขวัญ รับขวัญ เชิญเงาะโรงเรียนและขอพรเทวดา อวยพรร่วมงาน ปิดท้ายด้วยการสวดร้อยกรองบาลี