บัวผุด บัวสวรรค์ บัวตูม ดอกไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดอกไม้อัศจรรย์ หาชมได้ยาก
จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวติศาสตร์ มีเนื้อที่โดยประมาณ 12,891 ตารางกิโลเมตร (8,056,875 ไร่) เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ สภาพภูมิประเทศมีความหลากหลายตั้งแต่เกาะขนาดต่าง ๆ ในทะเลอ่าวไทย ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบชายฝั่งทะเลกับที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำที่สำคัญคือ แม่น้ำตาปีกับแม่น้ำไชยา มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 156 กิโลเมตร เป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศ เพราะมีธรรมชาติอันสวยงาม และมีดอกไม้ประจำจังหวัดคือ ดอกบัวผุด (บัวสวรรค์, บัวตูมหรือกระโถนฤาษี) เป็นดอกไม้อัศจรรย์ที่หาชมได้ยาก
ดอกบัวผุด หรือที่คนใต้มักเรียกกันว่า บัวตูม มีชื่อสามัญว่า Sapria Himalayana และชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sapria himalayana Griff. พบในป่าดิบตั้งแต่แหลมมลายูลงไป และในไทยพบที่อุทยานแห่งชาติเขาสก อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดอกบัวผุดเป็นพืชกาฝากที่อาศัยน้ำเลี้ยงจากรากของเถาวัลย์น้ำอย่าง เครือเขาน้ำหรือส้มกุ้ง ไม่มีลำต้น ไม่มีใบ มีเพียงดอกสีแดงประแต้มเหลืองใหญ่ราว 10 เซนติเมตร โผล่ขึ้นมาจากดินเท่านั้น เป็นดอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีกลิ่นที่เหม็นมาก ลักษณะคล้ายกับหม้อขนาดใหญ่มีกลีบหนา มีเส้นผ่านศูนย์กลางโดยประมาณ 50 – 100 เซนติเมตร ภายในดอกจะมีแผ่นแบนคล้ายจาน ส่วนด้านบนมีปุ่มคล้ายหนามแหลมจานนี้จะซ้อนเกสรตัวผู้กับรังไข่ไว้ด้านล่าง ที่โคนของดอกมีกลีบนำสีน้ำตาลอมเหลืองเรียงสลับซับซ้อนกันอยู่มาก เมื่อดอกยังสดอยู่ดอกบัวผุดจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 10 กิโลกรัม กลีบดอกมีความหนาตั้งแต่ 0.5-1 เซนติเมตร ใช้เวลาในการเติบโตนานกว่า 9 เดือน และดอกบัวผุดจะบานอยู่ได้แค่ 4-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ ดำเน่าไป
ส่วนบัวผุดที่พบในประเทศไทยได้รับการตั้งชื่อเป็นสปีชีส์ของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2527 โดย Dr.W.Meijer จากมหาวิทยาลัยเคนตักกี สหรัฐอเมริกา ได้ตั้งชื่อพฤกษศาสตร์สากลเพื่อเป็นเกียรติแก่นายแพทย์ชาวไอริส Dr.A.F.G.Kerr ผู้สำรวจพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2472 ซึ่งจากผลการสำรวจและวิจัยของฝ่ายพฤกษศาสตร์ กองบำรุง กรมป่าไม้ พบว่า บัวผุดพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศไทย เป็นพืชกาฝากที่เกาะกินเฉพาะน้ำเลี้ยงจากรากของไม้เถาของว่านป่าที่มีชื่อว่าย่านไก่ต้ม (Tetrastigma papillosum Planch) เพียงชนิดเดียวเท่านั้น ทำให้หลาย ๆ คน เข้าใจผิดว่าเป็นดอกของย่านไก่ต้ม แต่ความจริงแล้วเถาย่านไก่ต้มเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์องุ่น (Vitidaceae) ที่มีเถาขนาดใหญ่ พบในป่าดิบชื้นทางภาคใต้ที่มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี พื้นดินเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายตามหุบเขาหรือบริเวณริมลำธาร ซึ่งดอกย่านไก่ต้มจะมีสีเขียวอมเหลืองขนาดโตประมาณ 2 เท่าของหัวไม้ขีดไฟ และจากการศึกษาพบว่า พันธุ์ไม้ตระกูลบัวผุด (Raffiesia) มีประมาณ 13-14 พันธุ์
ซึ่งดอกบัวผุดจัดเป็นพืชสมุนไพรที่หายากและมีคุณค่าสูงมาก เป็นยาแผนโบราณที่ค้นพบในสมัยโบราณ ช่วยแก้โรคได้หลายชนิด เช่น โรคท้องร่วง โรคเหน็บชา โรคเบาหวาน อาการไอ อาการหอบ อาการปวดเอว อาการปวดหลัง สตรีมีครรภ์รับประทานจะช่วยทำให้คลอดง่าย และนิยมนำมาปรุงเป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอด ให้มีพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง ร่างกายกระปรี้กระเปร่า เลือดลมดี ร่างการผุดผาด มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง และดอกบัวผุดยังเป็นยาบำรุงสำหรับบุรุษเพศ และในปัจจุบันดอกบัวผุดนับได้ว่าหาชมได้ยาก เพราะป่าไม้ที่ถูกทำลายทำให้สภาพนิเวศน์ของป่าเปลี่ยนไป ซึ่งในประเทศไทยจะพบดอกบัวผุดได้ตามอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา จังหวัดระยอง เป็นต้น ดังนั้นในการชมความสวยงามของดอกบัวผุดที่จะมีให้เห็นกันปีละครั้ง จะต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของอุทยานฯ อย่างเคร่งครัด และต้องคอยระมัดระวังในการเดินชมดอกบัวผุด เพราะหากเผลอเหยียบปุ่มตาของบัวผุดที่ติดอยู่กับเครือเถาวัลย์ ย่านไก่ต้ม จะทำให้ดอกบัวผุดดอกนั้นตายและสูญพันธุ์ ไม่มีโอกาสที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาได้อีก
เดินป่าชมดอกบัวผุดที่อุทยานแห่งชาติเขาสก
ดอกบัวผุดในอุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเปิดให้ชมในช่วงเดือนพฤศจิกายน – เดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเดินขึ้นเขาไปประมาณ 2-5 กิโลเมตร ถึงจะพบดอกบัวผุดเบ่งบาน โดยเส้นทางการเดินจะค่อนข้างชัน และมีความเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูงมาก นักท่องเที่ยวจึงไม่ควรเร่งรีบในการเดิน ควรจะเดินไปเรื่อย ๆ เดินบ้าง พักบ้าง และในการชมความงดงามของดอกบัวผุด ควรเก็บแค่ภาพกับความประทับใจกลับบ้านไปเท่านั้น หากมีการฝ่าฝืนกฎข้อบังคับของอุทยานแห่งชาติเขาสก จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในทันที