ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เอกสารแรกที่นักท่องเที่ยว ต้องพิจารณา

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เอกสารแรกที่นักท่องเที่ยว ต้องพิจารณา

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กระแสการท่องเที่ยวในประเทศไทยถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หลายคนมีความคิดที่อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจท่องเที่ยวเป็นของตัวเอง โดยอาจจะเป็นการตั้งโต๊ะทัวร์ การนำเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงการพาไปทัวร์ร้านอาหารดัง ๆ แต่ทั้งนี้ การจะประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ จะต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ข้อมูลทั่วไปของธุรกิจนำเที่ยว

ธุรกิจนำเที่ยว คือ การนำนักท่องเที่ยวทั้งภายในและจากต่างประเทศ เดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการเดินทางเพื่อจุดประสงค์อื่น โดยได้จัดให้มีบริการในการอำนวยความสะดวกอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง เช่น สถานที่พัก ร้านอาหาร ทริปทัวร์ต่าง ๆ รวมถึงการจัดให้มีมัคคุเทศก์นำทาง การจะทำธุรกิจนำเที่ยว ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวก่อน เพราะถ้าหากไม่มีใบอนุญาต ก็มีโทษสูงถึงขั้นทั้งจำและปรับได้

ประเภทของใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว มีด้วยกัน 4 ประเภท คือ

  1. ใบอนุญาตนำเที่ยวเฉพาะพื้นที่ สามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ เฉพาะในจังหวัดที่จดทะเบียนและจังหวัดข้างเคียงเท่านั้น (เช่น จดที่เชียงใหม่ ก็จะนำเที่ยวได้แค่ที่เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียงที่ระบุเอาไว้) สามารถให้บริการได้เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น การจดทะเบียนประเภทนี้ จะต้องวางเงินเพื่อเป็นหลักประกันจำนวน 10,000 บาท ที่สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จะได้เลขทะเบียนที่มีเลข 13/xxxxx นำหน้า (เหมาะสำหรับไกด์ท้องถิ่น หรือธุรกิจนำเที่ยวเล็ก ๆ)
  2. ใบอนุญาตนำเที่ยวในประเทศ (Domestic) สามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ทุกที่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเที่ยวไปต่างประเทศ สามารถให้บริการได้เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยเท่านั้น การจดทะเบียนประเภทนี้ จะต้องวางเงินเพื่อเป็นหลักประกันจำนวน 50,000 บาท ที่สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จะได้เลขทะเบียนที่มีเลข 12/xxxxx นำหน้า (เหมาะสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเล็ก ๆ ในประเทศ เน้นนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก)
  3. ใบอนุญาตนำเที่ยวแบบอินบาวด์ (Inbound) สามารถประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ทุกที่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเที่ยวไปต่างประเทศ สามารถให้บริการได้เฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเท่านั้น การจดทะเบียนประเภทนี้ จะต้องวางเงินเพื่อเป็นหลักประกันจำนวน 100,000 บาท ที่สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จะได้เลขทะเบียนที่มีเลข 14/xxxxx นำหน้า (เหมาะสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเล็ก ๆ เน้นการให้บริการชาวต่างชาติเป็นหลัก)
  4. ใบอนุญาตนำเที่ยวต่างประเทศ (Outbound) สามารถระกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สามารถให้บริการได้ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ การจดทะเบียนประเภทนี้ จะต้องวางเงินเพื่อเป็นหลักประกันจำนวน 200,000 บาท ที่สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว จะได้เลขทะเบียนที่มีเลข 11/xxxxx นำหน้า (เหมาะสำหรับธุรกิจนำเที่ยวขนาดใหญ่ที่ให้บริการครบทุกความต้องการ)

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว

1. ทำไมถึงต้องวางเงินประกัน?

เพราะเงินประกันที่นำมาวางนั้น จะถูกนำมาใช้หากเกิดความผิดพลาด ความเสียหายจนเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องจากนักท่องเที่ยว ถ้าหากว่าสิ้นสุดการฟ้องร้อง แล้วบริษัทไม่ได้ชดใช้ให้กับนักท่องเที่ยวตามที่กฎหมายกำหนด สำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่เป็นฝ่ายเก็บเงินหลักประกันไว้ จะเป็นผู้นำเงินประกันนั้น ๆ มาชดใช้ให้กับนักท่องเที่ยวแทน

2. การต่อใบอนุญาต

จะต้องทำการต่อใบอนุญาตทุก ๆ 2 ปี เพื่อรักษาสถานภาพใบอนุญาตประกอบธุรกิจท่องเที่ยวไว้อยู่เสมอ (ถึงแม้ว่าจะหยุดทำกิจการไปชั่วคราวก็ตาม) โดยค่าธรรมเนียมในการขอต่อใบอนุญาต มีราคา 1,000 บาท ดังนั้นผู้ที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว จึงควรต่อใบอนุญาตตามกำหนดเสมอ เพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีปัญหาตามมาในภายหลัง

3. ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว และใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ไม่เหมือนกัน

ถ้าหากว่าทำธุรกิจ โดยที่ไม่ได้เป็นผู้นำเที่ยว หรือเป็นมัคคุเทศก์เอง ก็สามารถใช้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวอย่างเดียวได้ แล้วจ้างมัคคุเทศก์ที่มีบัตรอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์อย่างถูกต้องให้ทำหน้าที่แทน แต่ถ้าเป็นผู้นำแขกไปท่องเที่ยวตามที่ต่าง ๆ ก็จะต้องมีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ (บัตรไกด์) ควบคู่ไปด้วย มิเช่นนั้นอาจจะถูกจำคุกหรือถูกปรับเนื่องจากมีการกระทำผิดทางกฎหมาย ดังนั้นหากประกอบธุรกิจนำเที่ยวในลักษณะแบบนี้ ก็ควรขอใบอนุญาตทั้งการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและการเป็นมัคคุเทศก์ควบคู่กันไปด้วย

4. หากต้องการขายทัวร์ในอินเตอร์เน็ต

จะต้องขอใบอนุญาตนำเที่ยวแบบอินบาวด์ (ประเภทที่ 3) ขึ้นไปเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจที่จะขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่การขอใบอนุญาตนำเที่ยวในประเทศ (Domestic) จะสามารถขายได้แบบตั้งโต๊ะเท่านั้น ไม่สามารถขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้

บทลงโทษกรณีไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว

กรณีที่ประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาต จะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท ในรายที่มีการกระทำผิดพรบ.บางมาตรา เช่น มาตรา 30 ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะเรียกเก็บค่าบริการอื่นใดนอกจากที่ระบุไว้ตามคำโฆษณาหรือที่ตกลงกันล่วงหน้าไม่ได้ หากฝ่าฝืนอาจมีโทษถึงขั้นพักใบอนุญาต หรืออาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้ ส่วนกรณีที่กระทำการเป็นมัคคุเทศก์ โดยที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ จะมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องให้ความใส่ใจ ไม่ควรละเลยเป็นอันขาด เพราะหากไม่มีใบอนุญาตก็ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ และหากฝ่าฝืนก็จะต้องถูกลงโทษด้วยการจำคุกและปรับ ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่น้อย ดังนั้นควรขอใบอนุญาติให้เรียบร้อยก่อนจะดีที่สุด

เกี่ยวกับเรา

กุ้ยหลินเลคทัวร์ ทัวร์สุราษฎร์ธานี เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน ทัวร์เขื่อนรัชชประภา ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ บริการรถรับส่ง ชมความสวยงามของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด

ติดต่อเรา

Line ID: @GUILINLAKE